Margin loan ตอนที่ 2/2

10 มีนาคม 2568

หุ้นส่วนตัว : ราคาส่วนรวม=คนละเรื่องเดียวกัน

เรื่องราวแบบนี้ (“Margin loan”-“Forced Sell”)ในเชิงของงาน IR : Investor Relation ถามว่าแก้ไขได้หรือไม่? คำตอบคือ “เป็นงานที่ไม่ง่ายเลย” สำหรับทีม IR ที่จะเข้าไปช่วยเหลือในจุดนี้ เพราะการดำเนินการมักเริ่มต้นจากเรื่องส่วนตัวของผู้ถือหุ้น ซึ่งต้องแยกออกจากกันระหว่างตัวบุคคล-กับ-บริษัท ..แต่ปัญหาทุกอย่างมีทางออกเสมอ!!!

แม้จะบอกว่าเป็นกระทำโดยตัวบุคคล-เพราะหุ้นนั้นเป็นของส่วนตัวจะทำอะไรก็ได้ ..ถ้าจะว่าอย่างนั้นก็ใช่!!! แต่อย่าลืมว่าความเคลื่อนไหวของ “ราคาหุ้นคือเรื่องส่วนรวม” เมื่อเกิดเหตุการณ์ผู้ถือหุ้นที่กระทำการขอ “Margin loan” โดยนำหุ้นส่วนตัวไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน แล้วไม่สามารถปิดความเสี่ยงของบัญชีมาร์จิ้นได้ จนนำไปสู่การโดน “Forced Sell” เมื่อนั้นล่ะ..กลายเป็นเรื่องของส่วนรวมทันที!!! จึงถือเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” ซึ่งเป็นที่มาของการตั้งชื่อของการเขียนรายงานในครั้งนี้

เมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้วหน้าที่ของ IR ต้องเร่งดำเนินการชี้แจงด้วยความรวดเร็วเพื่อให้นักลงทุนได้ทราบถึงสถานการณ์จริงเกี่ยวกับ

  1. บริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง
  2. แผนการดำเนินธุรกิจยังเป็นไปตามกลยุทธ์และเป้าหมายที่ตั้งไว้
  3. อยู่ในธุรกิจที่มีอนาคตและสามารถเติบโตต่อไปในอนาคต
  4. หุ้นที่นำไปค้ำประกันไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัท และนโยบายการบริหารหรือแผนการรุกธุรกิจ
  5. ชี้แจงให้ทราบว่าบริษัทให้ความสำคัญและตระหนักเป็นอย่างดีต่อการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ
  6. ขอให้ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และผู้เกี่ยวข้องทุกท่านให้ความเชื่อมั่นและไว้วางใจบริษัทฯ

ที่สำคัญต้องเร่งเผยแพร่ข้อมูลออกไปสู่ทุกช่องทางอย่างครบถ้วนออกไปสู่สาธารณะให้รับรู้ในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็น 1.สื่อหลัก อาทิ ทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุ 2.สื่อออนไลน์ต่างๆ 3.สื่อที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ และ 4.สื่อโซเชี่ยลมีเดีย ในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เป็นคลิปวีดิโอ หรือ ข้อความ text เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับรู้ข้อเท็จจริงด้านปัจจัยยพื้นฐานของบริษัทและเกิดความเชื่อมั่นจนกระทั่งหยุดขายหุ้น หรือ ให้ผู้ลงทุนหน้าใหม่เข้ามาซื้อหุ้น ทดแทนกับกลุ่มที่ขายออกไปก่อนหน้านี้

แต่เรื่องแบบนี้สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ ..ซึ่งต้องเริ่มที่การกำกับดูแลในชั้นบอร์ดของบริษัทที่จะต้องมีการตั้งกฎหรือข้อกำหนดขึ้นมาภายในองค์กรเพื่อควบคุมการทำธุรกรรมดังกล่าวให้อยู่ในขอบเขตที่ปลอดภัย ซึ่งถ้าเป็นจริงเชื่อว่าจะเป็นจุดคุมกำเนิดไม่ให้เกิดเรื่องราวลุกลามบานปลายอย่างที่เกิดขึ้นกับหลายบริษัทในช่วงที่ผ่านมา

เท่าที่ทราบในขณะนี้หน่วยงานกำกับทั้งสำนักงานก.ล.ต.และตลท.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ต่างกำลังหาวิธีการเพื่อป้องกันปัญหาในจุดนี้อยู่นะ!!! แต่อยู่ในขั้นตอนเปิดรับฟังความคิดเห็น หรือ Public hearing เกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) คำนึงถึงความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่ลูกค้านำมาวางเป็นหลักประกันในบัญชีมาร์จิ้นและมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์/หนี้เสีย และลดผลกระทบต่อเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของตลาดทุนโดยรวม